Cannes 2019: Oleg | โอบกอดความหวังของผู้อพยพ
OLEG
(Juris Kursietis)
Cannes Film Festival 2019 : Director's Fortnight
หลังจากเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมในลัตเวียจากภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเขาอย่าง
‘Modris’ ซึ่งเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่ม
ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในครอบครัว และการเผชิญกับกระบวนการยุติธรรมในลัตเวีย
ซึ่งเป็นหนังที่เป็นตัวแทนของลัตเวียในการชิงชัยหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมเมื่อห้าปีก่อน
และการันตีด้วยรางวัลหนังเรื่องแรกยอดเยี่ยมจากเวทีรางวัลแห่งชาติ ร่วมถึงรางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติซานเซบาสเตียน
ซึ่งแน่นอนว่าทำให้หนังลำดับถัดมาของผู้กำกับ ‘Juris Kursietis’ ถูกจับตามองมากยิ่งขึ้นจนเข้าฉายในสาย ‘Director’s
Fortnight’ ของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติคานส์ครั้งล่าสุดนี้ได้
ในหนังเรื่องใหม่ของเขานั้นยังเล่นประเด็นในลักษณะเดิมกับการตั้งคำถามจากตัวละครในระดับปัจเจกบุคคล
ต่อภาพรวมของระบบระบบหนึ่ง ซึ่งในหนังเรื่องนี้เขาเลือกที่จะนำเสนอภาพของผู้อพยพเข้าไปทำงานเพื่อหารายได้
หาชีวิตที่ดีกว่าในต่างประเทศ ซึ่งในที่นี้ก็คือประเทศเบลเยี่ยมที่คุณภาพชีวิต
และเศรษฐกิจนั้นดีกว่าลัตเวีย หนังโฟกัสผ่านตัวละครนำที่เป็นผู้อพยพของเรื่อง
และตั้งคำถามถึงระบบที่เกี่ยวข้องกับการอพยพแรงงาน และชะตากรรมของแรงงานเมื่อเข้าไปทำงานในประเทศปลายทาง
ถึงแม้ว่าพล็อตในลักษณะนี้นั้นจะไม่ได้แปลกใหม่มากนัก
แต่เงื่อนไขทั้งเรื่องของวิธีการเล่า และการปฏิสัมพันธ์กับสถานการณ์ต่างๆของตัวละครมันก็ทำให้หนังน่าสนใจทีเดียว
วิธีการนำเสนอที่หนังเรื่องนี้เลือกใช้นั้นมีความน่าสนใจอยู่ตรงที่หนังเองเลือกใช้แฮนด์เฮลเกือบตลอดทั้งเรื่อง
และเลือกใช้ระยะภาพกว้างและยาวในสัดส่วนที่เท่ากัน ทำให้การสื่อสาร การโฟกัส ตลอดจนการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสามารถส่งต่อมาหาผู้ชมได้อย่างตรงไปตรงมา
และโฟกัสในเนื้อหาได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้น ภาพที่ถูกนำเสนอตลอดทั้งเรื่องนั้นสามารถให้ภาพในลักษณะโฮมวิดีโอในหลายๆช่วง
และมันทำให้ความใกล้ชิดของผู้ชม ที่มีต่อสาส์นที่ต้องการสื่อมีมากขึ้น
ซึ่งทำให้การสื่อสารของหนังนั้นมีระดับของความรู้สึกที่มากขึ้น ความเป็นมนุษยนิยมถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างชัดเจน
ชะตากรรมของตัวละครที่เกิดขึ้นในเรื่อง ในฐานะของผู้อพยพที่ต้องเผชิญกับโชคชะตาที่เกิดขึ้นในการแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในประเทศเบลเยี่ยมเปรียบเหมือนเป็นญาติพี่น้องที่ไม่ได้ห่างไกลจากตัวผู้ชมมากนัก
และวิธีการที่หนังเรื่องนี้ใช้ในการสื่อสารกับคนดูถือเป็นจุดแข็งของหนังอย่างดีเยี่ยมทีเดียว
อย่างไรก็ดีด้วยวิธีการกำกับอย่างเดียวนั้นอาจไม่มากพอที่จะทำให้หนังเองสื่อสารกับคนดูได้มากนัก
แต่การสื่อสารที่ประสบผลสำเร็จของหนังนั้นส่วนหนึ่งมาจากการสร้างสรรค์เรื่องราวที่มีจุดเปลี่ยนผ่านในการเผชิญชะตากรรมของตัวละครที่มีระดับความเข้มของความรุนแรงที่แตกต่างกันไปอย่างมีไดนามิกด้วย
ความเป็นผู้อพยพของหนังเรื่องนี้ไม่ใช้ผู้ลี้ภัย
นั่นทำให้การสร้างความหมายของเรื่องราวผ่านตัวละครนำในหนังนั้นต้องใช้เวลาในการสร้างความหนักแน่นอยู่พอสมควร
จริงๆแล้วแม้ว่าตัวหนังเองจะว่าด้วยเรื่องของแรงงานอพยพ หรือผู้อพยพที่เคลื่อนย้ายตัวเองเข้ามาหางานทำในประเทศที่ดูมีโอกาสในชีวิตมากกว่าในประเทศบ้านเกิดของตัวเอง
แต่จุดศูนย์กลางของการนำเสนอในหนังเรื่องนี้สามารถโฟกัสผ่านตัวละครนำได้อย่างชัดเจนตลอดเวลา
ทั้งในเรื่องของพล็อตการเดินเรื่อง และวิธีการเล่าเรื่องที่โฟกัสเรื่องราวผ่านตัวละครนำของเรื่องอย่างเข้มข้น
สภาพของหนังเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นมันเหมือนภาพของการเชิดชู
ภาพของการโอบกอดอย่างสรรเสริญที่มีต่อตัวละครนำของเรื่องซึ่งเป็นผู้อพยพ ซึ่งเปรียบเสมือนมนุษย์ทั่วไปที่ต่างดิ้นรนเอาชีวิตรอดในหนทางที่ดีกว่า
มันเลยเหมือนหนังเรื่องนี้เป็นโฆษณาชวนเชื่อในการสร้างภาพของการเชิดชูไม่เพียงแต่เรื่องของผู้อพยพเท่านั้น
แต่นั่นยังอาจตีความไปถึงความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกลายเป็นหัวใจสำคัญของหนังเรื่องนี้
ซึ่งเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดทีเดียว และโอกาสในงานต่อไปที่จะเฉิดฉาย
และสามารถพัฒนาวิธีการของตัวเองอย่างก้าวกระโดดมากขึ้นน่าจะเป็นไปได้สูงทีเดียว
น่าชื่นชมมาก
Oleg เข้าฉายที่เทศกาลหนังคานส์ ครั้งที่ 72 ในสาย Director's Fortnight
International Sales : BEST FRIEND FOREVER
by Sutiwat Samartkit
(09/06/19)
Post a Comment