Love Battle review | มโนคติกรมธรรม์ความรักของชนชั้นกลาง
LOVE BATTLE
(Wirat Hengkongdee)
ผลงานที่กลายเป็นที่รู้จักจากประเด็นดราม่าจากการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์ของนักแสดงนำคนหนึ่งของเรื่อง
ซึ่งทำให้หนังที่โปรโมทน้อย และการตลาดของหนังเองที่ไม่มีเวลามากพอ
กลายเป็นที่รู้จักในแง่ลบของกลุ่มเป้าหมายใหญ่จำนวนหนึ่งของหนังเรื่องนี้
ซึ่งแน่นอนว่ามันส่งผลกระทบต่อรายได้ของหนังไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว
แม้ว่ามันจะไม่ใช่ปัจจัยเดียวก็ตาม ทำให้ผลงานเรื่องถัดมาของผู้กำกับ “วิรัตน์
เฮงคงดี” ไปได้ไม่สวยมากนักบนตารางบ็อกออฟฟิศเมื่อเทียบกับจำนวนโรงที่ฉาย
หลังจากประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจกับผลงานการกำกับเรื่องก่อนหน้านี้อย่าง
“ยอดมนุษย์เงินเดือน” มาคราวนี้ผู้กำกับยังคงแนวทางทั้งสไตล์
และประเด็นในการเล่าเรื่องของมนุษย์เงินเดือนที่คราวนี้โฟกัสมาในวงการการขายประกัน
ซึ่งก็ยังคงมีหัวใจหลักเป็นภาพเทียบคียงของชีวิตมนุษย์ ความสัมพันธ์ความรัก
และความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน
ซึ่งประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องราวแบบนี้ของตัวละครที่เป็นชนชั้นกลางในเมืองใหญ่นั้นไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่อีกต่อไปแล้ว
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาภายหลังการเข้ามาทำหนังของผู้กำกับที่เป็นชนชั้นกลางที่เข้ามาใช้ชีวิตในเมืองหลวงประเด็นของหนังประเภทนี้โลดแล่นอยู่บนจอภาพยนตร์อย่างไม่ขาดสาย
ดังนั้นด้วยความจำเจที่เป็นภาพสัญลักษณ์แรกของหนังที่ปรากฎต่อสายตาของผู้ชมก็กลายเป็นความคุ้นเคยที่ไม่ได้สร้างระดับความน่าสนใจแปลกใหม่อย่างที่เคยอีกต่อไปแล้ว
ดังนั้นหนังจึงพยายามหาแง่มุมใหม่มาเล่าเรื่องให้น่าสนใจ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็หยิบยกเอาประเด็นเรื่องการขายประกันเขามาก
ท่ามกลางหนังหลายเรื่องก่อนหน้านี้ที่ขายนู่นขายนี่ต่างๆกันไปหลายเรื่องแล้ว
ซึ่งการใส่เรื่องขายประกันของหนังเขามามันดูเหมือนจะสร้างความน่าสนใจในไอเดียของการพยายามฉีกการเล่าเรื่องด้วยความน่าสนใจในลักษณะที่ต่างออกไปบ้าง
แต่น่าเสียดายสิ่งที่ทำให้หนังเองไปไม่ถึงฝั่งฝันนั่นคือ
ประเด็นที่แทบไม่ได้ถูกขยายออกไปมากนักกับการขายประกัน
เราเห็นความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่องของความรักพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ
และมีความน่าสนใจในเรื่องราวมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน
ความก้าวหน้าของเรื่องราว
และวิธีการในการนำเสนอมันวนลูปอย่างต่อเนื่องผ่านเคสต่างๆของตัวละครรองๆที่ใส่เข้ามา
และไม่ได้สร้างไดนามิกที่แตกต่างกันเสียเท่าไหร่
ความจำเจที่คาดเดาได้ตรงส่วนนี้ของหนังทำให้หนังเองเริ่มหมดมุขที่จะเอาไปดึงดูดคนดูได้มากขึ้นเรื่อยๆ
จะเห็นว่าในขณะที่หนังพัฒนาเรื่องราวไป
การสิ้นสุดของมิติการเล่าเรื่องของประกันที่ยกเคสตัวอย่างมากเรื่อยๆเริ่มหมดอำนาจลง
และการขยายทางไปในทางอื่นๆของหนังเองก็เริ่มถึงทางตันมากยิ่งขึ้น
หนังเริ่มหันมาโฟกัสศูนย์กลางของเรื่องเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์มากยิ่งขึ้น
ซึ่งการวางน้ำหนักของการเล่าเรื่องที่เปลี่ยนอย่างกระทันหันในลักษณะนี้ทำให้ศูนย์กลางที่หนังเองต้องการโฟกัสเรื่องราวผ่านความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นของตัวละครสองตัวในการขายประกัน
กลายเป็นเรื่องราวของคนสองคนที่มีงานขายประกันเท่านั้นเอง
จะเห็นว่าปัญหาของหนังในการสร้างความเชื่อมโยงของส่วนของเรื่องด้วยน้ำหนักสองพาร์ทสำคัญของหนังมันพัฒนาตัวไปไม่คู่ขนานกัน
ถ้าเปรียบเทียบกับหนังในลักษณะที่คล้ายกันเมื่อปีที่แล้วอย่าง “แอปชนแอป”
ดูจะทำหน้าที่การวางน้ำหนักศูนย์กลางที่ถ่วงกันไปมาได้น่าสนใจมากกว่า
ส่วนที่ช่วยหนังเอาไว้ได้ค่อนข้างมากท่ามกลางการเล่าเรื่องที่ยังไม่รู้ต้นรู้ทาง
และการให้น้ำหนักที่ยังไม่ค่อยสมดุลมากเสียเท่าไหร่นัก
นั่นคือการแสดงของนักแสดงสายละครที่ผันตัวมารับบทในหนังเรื่องที่สองของเธออย่าง
“เอสเธอร์ สุปรีย์ลีลา” ที่ก่อนนี้เคยรับบทที่ไม่หนักมากนักในหนังตลกเมื่อห้าปีก่อนอย่าง
“สิ่งเล็กเล็กที่น่าร็อก”
มาคราวนี้เธอมารับบทตัวละครนำที่เรียกได้ว่าแบกหนังทั้งเรื่องเอาไว้
และที่น่าชื่นชมอย่างมากนั่นก็คือ การปรับเทคนิคที่มากล้นในการแสดงละครให้น้อยลง
และเข้ากับความเป็นภาพยนตร์ได้ดีมากยิ่งขึ้น
การที่หนังเองมีตัวละครเธอเป็นศูนย์กลางของเรื่อง
และใส่การแสดงที่พอเหมาะไม่มากล้นจนเกินไป
และเก็บรายละเอียดในพาร์ทดราม่าของตัวละครได้ค่อนข้างดี แม้ว่าศูนย์กลางของการเล่าเรื่องที่โฟกัสเรื่องราวประเด็นระหว่างงาน
และความสัมพันธ์ของตัวละครจะไถลไปมาไม่ค่อยอยู่กับร่องกับรอยในหลายช่วง
การแสดงของเธอกัยังสามารถดึงศูนย์กลางของเรื่องให้กลับมาได้เหมือนอย่างเดิม
ถือเป็นการแสดงในสายภาพยนตร์ที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาก และน่าชื่นชมมากๆ จริงๆประเด็นที่อดมองไม่ได้ในหนังแม้ว่ามันจะไม่ได้เป็นปัญหากับการเล่าเรื่องมากนักถ้าพูดถึงความสามารถในการร้อยเรียงเรื่องในฐานะภาพยนตร์
แต่ความหนักแน่นของการสร้างประเด็นผ่านการซื้อกรมธรรม์รักสองปีดูจะยังไม่ถูกทำให้เชื่อถือมากเท่าไหร่นัก
ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วในทางหนึ่งของหนังมันก็เป็นปัญหาที่ทำให้ความรักของตัวละครแทบทุกคู่ในหนังวางตัวด้วยน้ำหนักที่เบาและไม่ได้น่าเชื่อถือมากนัก
ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วมันเป็นปัญหากับหนังไทยที่โฟกัสความแฟนตาซีของชนชั้นกลางในเมืองอยู่หลายเรื่องทีเดียว
ภาพรวมของหนังเรื่องนี้ก็ออกมาไม่ได้ขี้เหร่มากนัก
หนังฉายในโรงภาพยนตร์ไทยตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2562
International Sales : CJ Major
by Sutiwat Samartkit
(28/06/19)
Post a Comment