Shanghai 2019: Castle of Dreams | การล่มสลายของปรักหักพังความรัก
CASTLE OF DREAMS
(Reza Mirkarimi)
Shanghai Film Festival 2019 : Golden Goblet
ผู้กำกับชาวอิหร่านเลือดใหม่หลายต่อหลายคนหยิบเอามรดกจากผู้กำกับชั้นครูในอดีตทั้ง
“Abbas Kiarostami” และ “Mohsen
Makhmalbaf” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทรนด์หนังประเด็นที่อิงกับความสัมพันธ์ที่มีปัญหาภายในครอบครัวที่ได้รับอิทธิพลมาจากหนัง
“Asghar Farhadi”
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูจะเป็นแทรนด์ของหนังแนวที่ว่าด้วยเรื่องภาพของความสัมพันธ์ในครอบครัวของอิหร่านยุคหลังปฏิวัติอิสลามได้ชัดเจนมากที่สุด
ซึ่งแน่นอนว่าในผู้กำกับยุคหลังของอิหร่านที่เริ่มเล่าเรื่องราวที่สะท้อนภาพของสังคมอิหร่านร่วมสมัยที่อยู่ใต้ความเป็นรัฐอิสลามย่อมได้รับอิทธิพลจากหนังของผู้กำกับชั้นครูเหล่านี้อยู่เป็นทุนเดิมผสมผสานเข้ามาในเนื้องานของเขาอยู่แล้ว
ไม่เพียงแต่ในส่วนของประเด็น
แต่ยังหมายความรวมถึงวิธีการที่พวกเขาใช้ในการเล่าเรื่องอยู่แล้ว
จริงๆแล้วมีหนังหลายเรื่องของอิหร่านที่หยิบจับการเล่าเรื่องในลักษณะโร้ดมูฟวี่ในช่วงหลังมานี้
และแน่นอนว่าความคุ้นเคยที่เราสัมผัสกันได้อย่างชัดเจนในหนังอิหร่านคงนี้ไม่พ้นหนังของผู้กำกับเคียรอสตามี่ที่มีฉากหลังเป็นถนนระหว่างเมืองในชนบท
และปูพื้นหลังด้วยภาพของต้นไม้สีส้มทอง
กับความอบอุ่นในช่วงวันที่แสงสาดส่องเข้ามากระทบการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในฉากเหล่านั้น
และมันกำลังดำเนินเรื่องไปตามการเคลื่อนที่ของระยะทางพาหนะที่ถูกใช้ในเรื่อง
ซึ่งหนังชั้นครูเรื่องนั้นคงไม่ต้องเอ่ยชื่อแล้ว
แต่มีหนังหลายเรื่องที่ผสมผสานส่วนของความเป็นหนังชั้นครูเข้าไปในช่วงหลัง
ไม่ว่าจะเป็นหนังอิหร่านในปีที่แล้วอย่าง “As I Lay Dying” ของผู้กำกับ “Mostafa Sayari” หรืออิทธิพลที่ส่งไปหาผู้กำกับอินเดียอย่างในปีที่แล้วมีหนังเรื่อง
“Widow of Silence” ของผู้กำกับ “Praveen
Morchhale” ที่ก็สะท้อนอิทธิพลที่ตกค้างหลงเหลืออยู่ในงานของพวกเขาไม่มากก็น้อย
ซึ่งค่อนข้างเป็นภาพชินตาที่เห็นได้บ่อย และแทบจะเป็นประจำทุกปี
หนังเรื่องใหม่ของผู้กำกับอิหร่านที่น่าจับตามองมากที่สุดคนหนึ่งอย่าง
“Reza Mirkarimi” อย่าง “Castle
of Dreams” ที่คว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลประจำบ้านเกิดอย่าง
“Fajr film festival” ก่อนที่จะฉายนอกประเทศครั้งแรกเมื่อกลางปีที่ผ่านมาในเทศกาลหนังเซี่ยงไฮ้
และกวาดรางวัลสำคัญใหญ่ของเทศกาลมาถึงสามรางวัลคือ หนังยอดเยี่ยม,
ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงชายยอดเยี่ยม
ซึ่งถือเป็นก้าวที่สำคัญมากในอาชีพการกำกับของเขา
แม้ว่าในสเกลระดับโลกอาจยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก
แต่ถือว่าพัฒนาการในงานของเขานั้นน่าสนใจมาก และคมคายมากยิ่งขึ้น
เมื่อสิบเก้าปีที่แล้วผู้กำกับแจ้งเกิดจากหนังยาวเรื่องแรกของเขาอย่าง “The
Child and the Soldier” ซึ่งว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างทหารหนุ่ม
และเด็กคนหนึ่งที่ต้องเดินทางไปด้วยกันในขณะที่เขากำลังเดินทางกลับบ้าน
และเขาต้องไปส่งเด็กที่โรงเรียนดัดสันดาน เราเห็นรูปแบบของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในหนังของเขานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาระหว่างเด็ก
และผู้ใหญ่ในหนังของเขา
และพูดถึงประเด็นความรุนแรงที่ถูกสอดแทรกเข้ามาอย่างแนบเนียน
หรือชัดเจนบ้างในบางครั้ง หรือในหนังเรื่อง “Here, a Shining Light” ก็พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหนุ่มพิการ
และคนดูแลศาลเจ้า
ในหนังช่วงแรกของเขาหลายเรื่องมีการหยิบเอาประเด็นเรื่องความเชื่อทางศาสนา
และวิญญาณเข้ามาใส่ด้วย ก่อนที่เมื่อสิบเอ็ดปีที่แล้วเขาจะดังมากขึ้นจากหนังที่โฟกัสผู้หญิงในสังคมมุสลิมอย่าง
“As Simple as That” และตามมาด้วยหนังอีกสองเรื่องที่มีแกนกลางของเรื่องเป็นผู้หญิงอย่าง
“A Cube of Sugar” และ “Today”
ก่อนที่จะเริ่มกลับมาสร้างสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่อีกครั้งในเรื่อง
“Daughter” ที่สโคปภาพของลูกสาวในความสัมพันธ์ของครอบครัวมุสลิม
ก่อนที่จะลงเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัวโดยโฟกัสผ่านความเป็นพ่อในหนังเรื่องล่าสุดของเขาที่เรียกได้ว่าให้ผลลัพธ์ระดับมาสเตอร์คลาสใกล้เคียงผู้กำกับชั้นครู
ในหนังเรื่องล่าสุดเล่าเรื่องราวผ่านตัวละครผู้เป็นพ่อ
ที่มีคู่ชีวิตใหม่หลังจากเกิดเหตุการณ?ไม่คาดฝันในอดีต ทิ้งลูกชาย
และลูกสาวให้อยู่กับอดีตภรรยา และตอนที่เริ่มเรื่องเริ่มจากช่วงที่อดีตภรรยาป่วยระยะสุดท้าย
แล้วต้องไปรับลูกสาวกับลูกชาย ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาถูกดูแลด้วยอดีตภรรยา
ซึ่งสร้างภาพของวิมานความฝันเกี่ยวกับพ่อเอาไว้
ซึ่งทำให้เขาในฐานะพ่อที่ไม่เคยทำหน้าที่พ่อจะต้องสร้างสัมพันธ์กับลูกของเขาอีกครั้งอย่างไม่เต็มใจ
ความน่าสนใจของหนังแม้ว่ามันจะเดินเรื่องราวด้วยพล็อตเรื่องที่แทบจะจำเจ
เป็นโร้ดมูฟวี่ที่ว่าด้วยการสานต่อความสัมพันธ์ที่ผุพังลงไป
แต่ที่น่าสนใจในหนังของผู้กำกับเขาหลายต่อหลายเรื่องคือเทคนิคการเล่าเรื่อง
และการป้อนข้อมูลที่จับจังหวะได้อย่างดี ไม่เปิดเผยข้อมูลบางเรื่องอย่างตรงไปตรงมา
และอาศัยช่วงเวลาที่จะเปิดเผยข้อมูลในจังหวะที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่แข็งแรงได้
พัฒนาการของเรื่องราวที่สะท้อนผ่านการเรียนรู้ความเป็นพ่อของหนังจึงค่อยๆก่อร่างสร้างตัวให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
ในขณะที่หนังเองเริ่มประสานความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ และลูก
ในอีกทางหนึ่งนั้นหนังเองก็ค่อยๆเปิดเผยอดีตของตัวละคร
การกระทำของตัวละครที่ทำให้ผลรวมของเรื่องราวมันมีความรุนแรงของความรู้สึก
แม้ว่าหนังเองทบจะคลี่คลายเรื่องตรงหน้าออกไปมากแล้ว
แต่ในขณะเดียวกันหนังเองก็ซ่อนที่มาที่ไปของการกระทำที่ตัวละครเองตัดสินใจทำในอดีตไม่บอกกล่าวคนดู
และทำให้ภาพของการกระทำเหล่านั้นมันกลายเป็นน้ำหนักของการสร้างอารมณ์มากกว่าเหตุผลของเรื่องราว
ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้ส่วนใหญ่จึงหนักแน่นไปด้วยพื้นของอารมณ์ที่แทบมองหามูลของความเป็นไปที่ตัดทอนความเป็นไปได้ให้ลดลงไม่ค่อยเจอนัก
และมันสร้างพลังของความเป็นมนุษย์ออกมาอย่างมหาศาลที่เราในฐานะผู้สังเกตุการณ์ไม่มีวันที่จะเข้าใจนอกจากตัวของตัวละครเอง
ซึ่งมวลความหนาแน่นเชิงอารมณ์ของตัวละครที่สะท้อนผ่านห้วงของเรื่องราวที่ผ่านไปก่อนที่จะระเบิดมาในช่วงท้ายเรื่องนั้นทรงพลังมากโดยที่ผู้ชมไม่จำเป็นต้องสัมผัสความเสียงดัง
หรือความโกลาหลของเรื่องราวมากนักเหมือนหนังของผู้กำกับชั้นครูอิหร่านหลายคนที่ใช้วิธีการในลักษณะนี้
งานของผู้กำกับ “Reza Mirkarimi” เรื่องนี้ยอดเยี่ยมมาก
และแน่นอนว่าต้องยกเครดิตสำคัญให้กับการวางไดอะล็อก วางไลน์เรื่องด้วยจังหวะที่ดีมาก
และส่งพลังออกมาได้มากทีเดียว
Castle of Dreams เข้าฉายที่เทศกาลหนังเซียงไฮ้ ครั้งที่ 22 ในสาย Golden Goblet คว้าสามรางวัลใหญ่ของสายได้แก่ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงชายยอดเยี่ยม
International Sales : IRIMAGE
by Sutiwat Samartkit
(07/07/19)
Post a Comment