Karlovy Vary 2019: The Father | รักของพ่อในสะเก็ดแผลของคอมมิวนิสต์
THE FATHER
(Kristina Grozeva / Petar Valchanov)
Karlovy Vary Film Festival 2019 : Crystal Globe - Best Film
ในปี 1941
ราชอาณาจักรบัลแกเรียเซ็นสัญญาเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในสงครามโลกครั้งที่สอง
แนวหน้าของสงครามเต็มไปด้วยผู้คนที่มีความคิดหลากหลายทั้งคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม
และเสรีนิยม
ก่อนการเข้ามาของกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตในไม่กี่ปีหลังจากนั้นและบีบให้ประเทศนี้เปลี่ยนพันธมิตรในสงคราม
และตามมาด้วยการรัฐประหารที่เปลี่ยนประเทศเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ตามมาด้วยการเช็คบิลกลุ่มการเมืองที่เคยสนับสนุนนาซี
และสถาบันกษัตริย์ก็ล่มสลายลงจาผลการลงประชามติอย่างท่วมท้น ในยุคสงครามเย็นประเทศบัลแกเรียเป็นมิตรที่สำคัญของสหภาพโซเวียต
ในช่วงเวลานั้นในสภาพที่ประเทศเข้าสู่คอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ศาสนา
และความเชื่อนอกรีดต่างๆกลายเป็นสิ่งต้องห้าม
อิทธิพลทางการเมืองในการปราบปรามขั้วการเมืองฝั่งตรงข้ามโดยเฉพาะลัทธิฟาสซิสต์
อิทธิพลของสหภาพโซเวียต และยูโกสลาเวีย การอยู่ท่ามกลางปัญหาข้อขัดแย้งของมหาอำนาจทั้งสอง
การเกิดวิกฤติหนี้สิน
และปัญหาทางเศรษฐกิจรวมถึงการประท้วงต่อต้านที่เกิดขึ้นภายในประเทศทำให้ความเป็นรัฐคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลงเมื่อราวสามสิบปีก่อน
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังเป็นภาพที่เห็นอยู่ในสังคมของบัลแกเรียที่มีความคิดหลากหลายทางการเมือง
บาดแผลของสิ่งที่ตกค้างที่เกิดขึ้นในอดีต
ซึ่งในหนังเองสะท้อนผ่านดราม่าของความสัมพันธ์ในครอบครัว
และรายละเอียดของเหตุการณ์ที่หนังใส่เข้ามาอย่างแนบเนียนและเต็มไปด้วยชั้นเชิงของการสำรวจบาดแผลที่ตกค้างเหล่านั้นที่สะท้อนผ่านภาพของความสัมพันธ์โดยนัยได้อย่างน่าสนใจ
ความแตกต่างที่ถูกวางเอาไว้อย่างจงใจในรายละเอียดของหนัง
ตั้งแต่เรื่องของยุคสมัยของพ่อ และลูกที่ต่างกันอย่างชัดเจน
การประสบความสำเร็จของลูกในการทำงานด้านสื่อที่ผลิตโฆษณาในยุคของทุนนิยมที่คนเองมีโอกาสเข้าถึงการสื่อสารมากยิ่งขึ้น
มีโอกาสแสดงและเฉิดฉายในทางที่เป็นตัวเองได้ม่ากยิ่งขึ้น
การเอาแม่เข้ามาถ่ายโฆษณาที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาดราม่าความสัมพันธ์ในหนัง
เมื่อเทียบกับยุคสมัยของพ่อที่ต่างกันออกไปภายใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์
ซึ่งหนังเองก็พูดถึงบทบาทของแม่ที่มีต่อการแสดงละครในยุคนั้นด้วย
เพราะฉะนั้นการเอามาเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างตรงนี้จึงน่าสนใจค่อนข้างมาก
ความน่าสนใจที่ฉาบหลังของภาพสังคมและการเมืองอีกประการหนึ่งที่เด่นชัดมากในหนังเรื่องนี้นั่นก็คือ
การพูดถึงความเชื่อความศรัทธาที่ต่างกันระหว่างพ่อ และลูก
อย่างที่บอกไปแล้วว่ากฎเกณฑ์ของความเชื่อความศรัทธาในยุคของคอมมิวนิสต์นั้นแทบเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ต่างจากในยุคปัจจุบันอย่างชัดเจน
แต่มุมมองที่ต่างกันระหว่างพ่อ
และลูกต่อเรื่องดังกล่าวมันก็สะท้อนภาพให้เห็นถึงช่องว่างที่ชวนเศร้าอยู่ไม่น้อยทีเดียว
ในเมื่อปราศจากศาสนาแล้ว ในยุคเวลานั้นก็ไม่รู้ว่าคนเราจะจัดการกับความเศร้าได้อย่างไหร่
ถ้าจะให้เชื่อในเพียงตัวผู้นำ
หรือตัวระบบมันก็ดูแห้งแล้งกับชีวิตของมนุษย์มากเกินไป
ภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ที่ถูกฉาบหลังถูกวางไว้อยู่ในบรรยากาศของความเศร้าของการลาจากที่อิงกับสัญลักษณ์
หรือภาพพื้นหลังในเรื่องของศาสนาคริสต์อย่างชัดเจน
เราจะเห็นรายละเอียดของความจงใจในการเอาสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเข้ามาจัดวางเอาไว้อย่างจงใจ
และค่อนไปทางความเชื่อมโยงกับความตายด้วย เพราะฉะนั้นภาพของความซึมเศร้า
เศร้าสร้อยเหล่านี้มันจึงเป็นเหมือนตัวกลางที่จับการอารมณ์ สถานการณ์ และความเคลื่อนไหวของตัวละครได้อย่างโดดเด่น
ลำดับชั้นของการเล่าเรื่องที่เล่นกับความศรัทธา
และไว้เนื้อเชื่อใจของหนังที่ตัวละครเองมีต่อกันในเรื่องมีความน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
เราจะเห็นว่าพัฒนาการของผู้กำกับเมื่อนับจากหนังแจ้งเกิดของเขาและเธออย่าง “The
Lesson” และหนังที่ส่งผลให้พวกเขาดังเป็นพลุแตกกับหนังตัวแทนเข้าชิงรางวัลออสการ์ของประเทศอย่าง
“Glory” หนังเล่านี้มีโครงสร้าง
และลักษณะหัวใจของการเล่าประเด็นความสัมพันธ์ที่สะท้อนภาพของความซับซ้อนในจิตใจของมนุษย์ที่มีความคล้ายคลึงกันอย่างชัดเจน
โดยหนังเหล่านี้ของพวกเขายังไม่ลืมที่จะเกี่ยวพันกับภาพของสังคม
และการเมืองเอาไว้อย่างชัดเจนด้วย
เพราะฉะนั้นสถานการณ์ของการโกหกในหนังจึงเป็นหมุดหมายของภาพสะท้อนที่สำคัญประการหนึ่งที่หนังเองสร้างขึ้นมาวิพากษ์ลำดับขั้นของสภาพจิตใจของตัวละคร
ซึ่งมันเกิดขึ้นกับตัวละครทุกตัว ไม่เว้นแม้แต่ตัวละครอย่างพ่อ
และแม่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้
สิ่งที่ตัวละครทำมองโดยผิวเผินแล้วมันอาจเหมือนการค้นหารหัสลับที่มองไกลออกไปจากตัวเอง
แต่แท้ที่จริงแล้วมันคือการมุ่งสำรวจตัวเองมากกว่า
การหยิบเอาความผิดปกติของบางสิ่งในหนังเข้ามาใส่อย่างจงใจ
เป็นอีกหนึ่งรายละเอียดที่น่าสนใจไม่น้อย
คือสิ่งเหล่านี้มันมีรายละเอียดยิบย่อยที่ทำให้สภาพการของหนังมีความไม่เถรตรง
มีความซับซ้อนของความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจอยู่ อย่างรองเท้าของตัวละครลูกชาย
อุกกาบาตในป่า เป็นต้น สถานที่ที่ตัวละครเดินทางไปหาผู้นำลัทธิทางจิตวิญญาณที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นพิพิธภัณฑ์ของการปฏิวัติแห่งชาติ
ซึ่งความผิดเพี้ยนอย่างจงใจ
และการสะท้อนความหมายเบื้องหลังของการเมืองและการเปลี่ยนแปลงมันสร้างเส้นเรื่องที่วิพากษ์การเปลี่ยนผ่านของสังคมการเมืองที่กินเวลาไม่ไม่ถึงสามทศวรรษ
นอกจากบรรยากาศของความเศร้าที่ปกคลุมในหนังแล้ว
ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งนั่นก็คือการสร้างบรรยากาศลึกลับที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้
การหยิบเอาความประหลาดชวนสนเท่ห์ การสื่อสารกับคนตาย
การที่ตัวละครผลักตัวเองเข้าไปในความอิหลักอิเหลื่อของความจริง
มันเปิดกระดานของพื้นที่การสำรวจเลเยอร์ของความจริงขึ้นมาใหม่อย่างน่าสนใจ
และทำให้พื้นที่ของการสำรวจความสัมพันธ์ของตัวละครสองตัวภายหลังการสูญเสีย
สามารถสร้างความต่อเนื่องที่พิลึกพิลั่นระหว่างประเด็นในมุมมองความสัมพันธ์เชิงปัจเจก
และมุมมองที่ให้ภาพมหภาพของความสัมพันธ์ในเชิงการเปลี่ยนผ่านของสังคมและการเมืองในบัลแกเรีย
แน่นอนว่าการวิพากษ์ภาพของการเมืองในปัจจุบันของบัลแกเรียมักจะปรากฎภาพให้เห็นในหนังของพวกเขาอยู่เสมอ
สิ่งที่โดดเด่นประการหนึ่งในหนังเรื่องนี้ที่เหมือนเป็นหัวใจในหนังเรื่องนี้ของสองผู้กำกับคือ
นโยบายรัฐที่ปฏิบัติต่อคนแก่ ที่ส่งผลต่อชีวิตในบั้นปลายของพวกเขาในประเทศนี้
ซึ่งในรายละเอียดข้อเท็จจริงนั้นก็ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร
แต่ภาพที่หนังเองนำเสนอนั้นมันมีความหดหู่ของชะตากรรมมที่ตัวละครต้องเผชิญอยู่ไม่น้อยทีเดียว
มันทำลายความหวัง ความสุข หรืออะไรก็ตามแต่ในทางสว่างของชีวิตของคนชราในประเทศนี้ไปเยอะพอสมควร
แม้ว่าประเทศนี้จะเปลี่ยนเป็นระบบที่อิงกลไกระบบการเงินมากยิ่งขึ้น
ทุกคนมีเสรีมากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกันผู้คนโดยเฉพาะในวัยชรากลับถูกทิ้งเอาไว้โดดเดี่ยวให้ค้นหาความหวังกันตามลำพัง
แม้ว่าสิ่งที่หนังเดินเรื่องมาตลอดทั้งเรื่องจะเหวี่ยงตัวเองออกไปสำรวจสิ่งที่อยู่ไกลจากตัวมนุษย์ของเรา
มองหาความซับซ้อนที่ไม่ถูกแก้ไขให้ดีขึ้นในข้อเท็จจริง
แต่การสื่อสารในห้วงสุดท้ายกลับดึงเรากลับมาก้มมองที่ปลายเท่าของเราในจุดที่เรายืน
และมุ่งสำรวจตัวเราเอง สำรวจความเป็นพ่อ
ความสัมพันธ์ที่ไม่อิงกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่มั่นคงและแปรปรวน
ค้นเข้าไปหาพื้นฐานของหัวใจของมนุษย์ ซึ่งการเล่าเรื่องที่ชัดเจน เฉียบคม
และแข็งแรงที่พวกเขาพัฒนาตัวเองได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆจากหนังเรื่องก่อน
พาเราดำดิ่งความทรงพลังของอารมณ์ในช่วงสุดท้ายของหนังออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมทรงพลัง
The Father เข้าฉายที่เทศกาลหนังการ์โลวี วารี ครั้งที่ 54 ชนะรางวัลหนังยอดเยี่ยม Grand Prix จากสายประกวดหลักของเทศกาล Crystal Globe
International Sales : Wide Management
by Sutiwat Samartkit
(27/08/2019)
(27/08/2019)
Post a Comment