Locarno 2019: Krabi, 2562 | ปกาไส ตัวตนที่อยู่เหนือกาลเวลา
KRABI, 2562
(Ben Rivers / Anocha Suwichakornpong)
Locarno Film Festival 2019 : Moving Ahead
ผลงานการรวมมือกันครั้งแรกของสองผู้กำกับชาวไทยอย่าง
“อโนชา สุวิชากรพงศ์”
ที่เป็นที่รู้จักกอย่างดีจากภาพยนตร์แนวแฟนตาซีทดลองที่สะท้อนภาพสังคมการเมืองอย่าง
“เจ้านกกระจอก” และ “ดาวคะนอง” และผู้กำกับชาวอังกฤษที่ทำหนังแนวแฟนตาซีทดลองที่เป็นที่รู้จักกันอย่าง
“A Spell to Ward Off the Darkness”, “Two Years at Sea” และ “The Sky Trembles and the Earth is
Afraid and the Two Eyes Are Not Brothers” ซึ่งเป็นการผสมผสานแนวทางที่คล้ายคลึงกันออกมาในหนังเรื่องใหม่ได้อย่างน่าชื่นชม
การโฟกัสเรื่องราวที่เกิดขึ้นในจังหวัดกระบี่ในสถานที่สำคัญของจังหวัด
โดยสร้างพล็อตเรื่องที่ไม่ชัดเจนของการเดินทางเข้ามาในจังหวัดของหญิงสาวคนหนึ่งที่หายตัวไปอย่างลึกลับ
เรื่องราวของหนังซ้อนทับ และผสมผสานกันระหว่างความจริง และความไม่จริงที่เกิดขึ้นในรูปแบบของงานฟิคชั่น
ผสมผสานกับภาพในเชิงงานสารคดีที่สำรวจเรื่องราวด้วยความจริง
และผลักดันตัวถูกสัมภาษณ์ให้กลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความเป็นฟิคชั่น
นอกจากนี้การเล่นกับความซ้อนทับที่เกิดขึ้นยังถูกพูดถึงทั้งในชื่อของตัวบุคคล
ความไม่ชัดเจนของเป้าหมาย และที่มาของตัวละคร
รวมไปถึงการซ้อนทับกับเรื่องของสถานที่ของตัวละครที่ซ้อนทับซึ่งกันและกัน
ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ยิ่งไปกว่าการเล่นกับเรื่องของขอบเขตพรมแดนของความจริง
ทั้งในขอบข่ายของโลกภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในหนัง และความเป็นจริงเชิงกายภาพในความรู้สึกของผู้ชมในโลกของความเป็นจริง
หนังยังดึงเสน่ห์พื้นหลังของพื้นที่เข้ามาสร้างความฉงนของความเป็นจริงด้วย
ไม่ว่าจะเป็นตำนานในเชิงพื้นที่ สิ่งที่ถูกโลกปัจจุบันหลงลืม
หรือแม้แต่ภาพของพื้นที่ที่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่สำรวจภาพในมุมที่ไม่จำเจ
และลงดิ่งถึงเนื้อหาที่ซ้อนอยู่เบื้องหลังความรู้สึกที่ตกค้างและหลงเหลือเหล่านั้น
กลายเป็นมวลสารที่ทรงพลังขนาดใหญ่อยู่เบื้องหลังของความรู้สึกที่กระแทกกระทั้นเข้าหาผู้ชมอย่างไม่ลดละ
มันเป็นความท้าทายเชิงการเล่าเรื่องในเส้นเรื่องที่ไม่ชัดเจน
เป็นการผสมผสานของมุมมองคนในวัฒนธรรมเดียวกัน กับคนนอกออกมาได้อย่างน่าสนใจ
ความเป็นคนนอก และคนในกึ่งคนนอกที่มองเข้าไปในหนังเรื่องนี้จึงน่าสนใจเอามากๆ
ด้วยความที่ผู้กำกับอย่าง
“อโนชา สุวิชากรพงศ์” เกิดที่จังหวัดชลบุรี ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่อังกฤษ
และอเมริกาตามลำดับ ดังนั้นมุมมองของความเป็นคนนอกนั้นจึงเกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้
ภาพของหนังที่เกิดขึ้นมันจึงเป็นภาพของการมองเข้าไปในพื้นที่ที่ส่วนหนึ่งมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมความเชื่ออยู่บ้างในขณะหนึ่งในส่วนของความเป็นคนในของผู้กำกับที่เป็นคนไทยมุมมองของหนังจึงยังมีความเป็นคนในอยู่
กลับกันกับผู้กำกับอีกคนอย่าง “Ben Rivers” ที่เรียกได้ว่าแทบจะเป็นคนนอกโดยสมบูรณ์เลยก็ว่าได้
ดังนั้นมุมมองของหนังแฟนตาซีทดลองนี้จึงเป็นมุมมองของการมองจากภายนอกเข้าไปหาภายในเสียส่วนมาก
ภาพของความสับสน
และการพยายามทำความเข้าใจเชิงพื้นที่ของหนังเองจึงมีความน่าสนใจและโดดเด่นมากทีเดียว
เสน่ห์ตรงส่วนนี้อาจให้ภาพ และมุมมองที่ต่างกันออกไปกับคนพื้นที่ที่เกิด
และเติบโตในกระบี่ก็เป็นไปได้ ความสับสน
การพยายามทำความเข้าใจในเชิงรากเหง้าจึงมีความประดิษฐ์ของการเข้าถึงที่ชัดเจนพอสมควร
จะเห็นว่าผลลัพธ์ของหนังเรื่องนี้ให้มุมมองของความรู้สึกในการเข้าใจตัวตน
สำรวจตัวตนที่ต่างไปจากภาพของตัวละครที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องก่อนหน้านี้ของผู้กำกับอโนชาอย่าง
“ดาวคะนอง”
ค่อนข้างชัดเจนที่นำเสนอเบื้องหลังของเรื่องราวของประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่เป็นโศกนาฏกรรมของชาติที่มีความเป็นเรื่องราวส่วนกลางมากกว่าอย่าง
“6 ตุลาคม 19”
ดังนั้นขอบเขตของการเกี่ยวข้องกับวัตถุดิบที่หนังเรื่องนี้ใช้จึงมีระยะห่างที่ชัดเจนพอสมควร
จริงๆแล้วภาพของตัวละครนำหญิงในเรื่องก็มีความซ้อนทับกับตัวผู้กำกับไม่น้อยทีเดียว
ยิ่งร่วมด้วยลักษณะของงานของผู้กำกับอย่าง “Ben Rivers” ที่มักนำเสนอกรอบของความหมายมากกว่าความรู้สึกในงานของเขาหลายๆเรื่องก็ทำให้หนังเรื่องนี้มีระยะของการสะท้อนความรู้สึกของตัวละครที่ไม่ได้มากนัก
ดังนั้นประเด็นที่เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้จึงเป็นภาพของการตีความของผู้ชมกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าอย่างตรงไปตรงมามากกว่าผ่านความรู้สึกของตัวละคร
ภาพของจังหวัดกระบี่ในความทรงจำของคนทั่วไปในเชิงประวัติศาสตร์การเมืองอาจดูไม่ได้สำคัญมากนัก
นอกจากการรู้จักในฐานะสถานที่ที่มีสถานที่ท่องเที่ยมที่มีชื่อเสียงตามธรรมชาติมากมาย
บทบาทในช่วงประวัติศาสตร์ชาตินิยมของไทยส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรตามพรลิงค์
และไม่ได้มีบทบาททางการเมืองสำคัญมากมายนัก
แต่แท้จริงแล้วมีการเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ในยุคโบราณมาช้านานแล้ว
มีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ยุคหินมากมาย
ซึ่งคาดว่านี่น่าจะเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่เป็นแรงขับดันที่สำคัญในหนังเรื่องนี้
จากการที่เห็นการหยิบเอาวัตถุดิบตรงนี้เข้ามายั่วล้อหลายต่อหลายครั้งในหนังเรื่องนี้
การค้นพบหลักฐานสำคัญของมนุษย์ยุคโบราณอย่าง “Siamopithecus eocaenus” ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นการค้นพบมนุษย์โบราณที่มีอายุมากกว่า
35 ล้านปีที่สมบูรณ์และมีอายุเก่าแก่มากที่สุดของโลก
หลังจากนั้นมีชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ราวสี่กลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้
และมีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวเนื่องกับบรรพบุรุษคนไทยอยู่อาศัยก่อน
มีความเป็นเมืองมาก่อนที่อารยธรรมของอินเดียจะเข้ามาตั้งรกราก
และพัฒนาตัวเป็นอาณาจักรมีการค้าขายกับอียิปต์
ซึ่งเป็นหลักฐานที่สำคัญเชิงประวัติศาสตร์ที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่จังหวัดกระบี่
แม้ภาพตัวเมืองโดยทั่วไปของกระบี่นั้นจะไม่มีความน่าสนใจมากนัก
แต่ด้วยเบื้องหลังทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่ภาพจำของคนทั่วไป
และสถานที่ท่องเที่ยวที่ห่างออกไปจากตัวเมือง
การค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งมนุษย์โบราณ การพบซากของเสือเขี้ยวดาบอายุราว 35
ล้านปี
รวมไปถึงความภูมิใจในช้างเผือกคู่บารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานนามว่า “พระเศวตอดุลยเดชพาหน
ภูมิพลนวนารถบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกมลาสนวิศทธวงศ์ สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาติ
สยามราษฎรสวัสดิประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรพิตรสารศักดิ์เลิศฟ้า”
ด้วยความที่สถานที่ทุกสถานที่ย่อมมีตำนานที่มาทั้งในเชิงหลักฐานความจริงทางประวัติศาสตร์
และในตำนานเรื่องราว ชื่อของกระบี่เองก็ดูจะมีการคาดเดาที่หลากหลาย
ทั้งในอดีตที่ใช้ชื่อเมืองว่า “ปกาไส” ซึ่งคำว่า “ปากา” นั้นแปลว่า “กระบี่”
ซึ่งถูกตั้งชื่อเมืองขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากนี้ยังมีตำนานของจังหวัดมากมายไม่ว่าจะเป็น
“ตำนานอ่าวพระนาง” ซึ่งแตกต่างจากอ่าวนางชัดเจน
ในหนังก็หยิบเอาประเด็นของความใกล้เคียงกันของชื่อมาใช้ในหนังเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งนอกจากเรื่องของอ่าวพระนาง และอ่าวนางแล้ว
หนังเองยังซ้อนทับด้วยชื่อของตัวละครอย่าง “ตาล”
รวมไปถึงตัวละครที่เป็นมนุษย์โบราณที่ใช้ในการถ่ายทำโฆษณา
และตัวละครจริงๆซึ่งเอามาซ้อนทับกับขอบเขตของความจริงอย่างน่าสนใจ
ย้อนกลับไปที่ตำนานอ่าวพระนาง ซึ่งเป็นปรัมปราสำคัญที่หนังเองใช้พูดบ่อยครั้ง
และมันเป็นเรื่องราวที่พัฒนามาสอดคล้องกับภาพของจังหวัดกระบี่
และภาพดาบไขว้ซึ่งดันไปสอดคล้องกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในตำนานอ่าวพระนางที่มีการขว้างดาบสองเล่มในการทะเลาะในงานแต่งงานตามท้องเรื่อง
และถัดมาก็ในขณะที่มีการสร้างเมืองปกาไสขึ้นก็มีการพบดาบสองเล่มนี้
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าตำนานอ่าวพระนางในตอนต้นอาจเป็นเรื่องแต่ง
แต่การพบดาบของเจ้าเมืองปกาไสนั้นก็ดูจะเป็นเรื่องแต่ง
หรืออาจจะเป็นเรื่องจริงที่เล่าผิดเพี้ยนกันไปก็ได้
หรืออาจจะเป็นอะไรที่สมความจริงมากกว่านี้ก็ได้
หรืออาจจะเกิดมาไม่นานนี้จากการตั้งเมืองกระบี่ขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์เท่านั้นก็เป็นไปได้
นี่ยังไม่รวมตำนานเขาขนาบน้ำที่มีเรื่องราวของกระบี่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย นอกจากนี้กระบี่ในภาษากลอนยังแปลว่า
“ลิง” ซึ่งมาจากภาษาบาลีสันสกฤตอย่าง “กปิ”
ซึ่งก็สอดคล้องกับความที่ว่าก่อนที่เป็นเมืองปกาไสเป็นที่ตั้งของเมือง “บันไทยสมอ”
ซึ่งเป็นเมืองในสิบสองนักษัตริย์ขึ้นตรงต่อนครศรีธรรมราช
ซึ่งในสมัยก่อนเป็นเมืองที่มีลิงมาก
ซึ่งความสับสนของที่มาที่ไม่ชัดเจนก็ทำให้สะท้อนภาพความคลุมเครือของการสร้างความหมายสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในหนัง
ภาพของนักวิทยาศาสตร์ในการพยายามค้นหาความจริงที่เกิดขึ้น
ความหลากหลายที่ชวนสับสนของห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์มากมายสะท้อนภาพของหนังเรื่องนี้ที่มีความเบลอของเส้นแบ่งความจริง
ความไม่จริง เรื่องเล่า และข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์มากมาย
เสียงของทหารเดินตบเท้าสวนสนามอาจเป็นภาพสะท้อนของความแร้นแค้นที่เมืองต้องเผชิญในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาที่มีกองญี่ปุ่นเข้ามาตั้งค่ายถึง
2 แห่ง
และมีการเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยในการขับไล่กองทหารญี่ปุ่นออกไปจากพื้นที่ของกระบี่
มีหลักฐานของการจมเรือขนสินค้าที่ญี่ปุ่นยึดไว้ของฝ่ายสัมพันธมิตร
ภาพเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้ที่เป็นเด็กนักเรียน
และแกะสะท้อนถึงความไร้เดียงสาของข้อมูลได้อย่างดี
ความสับสนของตัวตนของตัวละครนำหญิงในเรื่องที่หายตัวไป
และไม่รู้ว่าเธอมาทำอะไรที่กระบี่จริงๆกันแน่
และมีฉากซ้อนทับกับตัวละครชายในโรงแรม
การซ้อนทับตัวละครชายที่แต่งตัวเป็นมนุษย์โบราณ กับภาพของมนุษย์โบราณจริงๆ
การเป็นที่จัดงานศิลปะสำคัญอย่าง “Biennale” แต่กลับมีผลงานหนังที่ถูกแบนห้ามฉาย
ภาพของโรงหนังเก่าที่ปิดตัวลงไปตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งน่าจะเกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ
และป้ายที่ว่างเปล่าของโปรแกรมฉายเร็วๆนี้ กระบี่ที่มีพื้นที่ติดทะเล
แต่น้ำส้มกลับเป็นน้ำที่ถูกชื่นชมในเรื่อง ตึกมากมายที่ยังสร้างไม่เสร็จ
สิ่งเหล่านี้ตัดกับบทสัมภาษณ์ของผู้คนในเรื่องนี้ที่บอกเล่าว่าอยู่ในพื้นที่นี้มานานแล้ว
แต่ภายในบ้านกลับว่างเปล่า พื้นที่รายล้อมบ้านก็มีแต่ป่า
และเต็มไปด้วยพื้นที่ว่างเปล่าอันกว้างไพศาล
ความขัดแย้งที่จงใจเหล่านี้ที่หนังเองสะท้อนภาพของความยิ่งใหญ่ความรุ่งโรจน์ของประวัติศาสตร์อันยาวนาน
และเรื่องราวตำนานมากมายที่ถูกบอกเล่า กับภาพของความว่างเปล่าที่เกิดขึ้น
ความสับสนของผู้คนที่ให้คำตอบต่อนักท่องเที่ยวไม่ได้ หรือได้ไม่ชัดเจนหลายครั้ง
สะท้อนภาพของการตั้งคำถามถึงคุณค่า และความหมายที่ถูกหลงลืม
หรือถูกทำให้ลืมด้วยค่านิยมของโลกสมัยใหม่
และวิธีการของอำนาจส่วนกลางที่บ่อนทำลายคุณค่าเชิงท้องที่ให้เป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวที่ไร้รากของความสำคัญใดๆออกมาได้อย่างเจ็บปวดจนเหมือนกระบี่ในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่จังหวัดหนึ่งของประเทศไทยแผ่นดินเกิด
แต่หากเป็นพื้นที่ใหม่ในประเทศอื่นที่เราไม่คุ้นเคย
ถือเป็นความทะเยอทะยานที่ทรงพลังทีเดียวสำหรับผู้กำกับสายงานทดลองทั้งคู่
Krabi, 2562 เข้าฉายที่สาย Moving Ahead ที่เทศกาลหนังโลคาร์โน ครั้งที่ 72
International Sales : Rediance
by Sutiwat Samartkit
(30/08/2019)
(30/08/2019)
Post a Comment