Pro May review | โฆษณาของการก้าวผ่านจุดต่ำสุดของชีวิต
PRO MAY
(Tanawat Aiamjinda)
เรื่องราวหนังดราม่าที่อิงจากโครงสร้างชีวิตของนักกอล์ฟสาวคนไทยมือหนึ่งของโลกอย่าง
“เม เอรียา จุฑานุกาล” หนังโฟกัสตัวละครคนน้องเป็นจุดสนใจหลักของเรื่อง
เรื่องราวของโปรเมเริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอจับไม้กอล์ฟตอนอายุราวห้าขวบ
และหลังจากนั้นก็ถูกผลักดันโดยพ่อที่เป็นเจ้าของร้านให้เธอเข้าสู่วงการกีฬาที่สร้างรายได้มหาศาล
แน่นอนว่าในฐานะนักกอล์ฟที่มีชื่อเสียงคงไม่มีใครรู้จักเธอที่ฉายแววอัจฉริยะตั้งแต่ยังไม่ถึงสิบขวบที่สามารถคว้ารางวัลการแข่งขันรายการหนึ่งในสหรัฐอเมริกาได้
ก่อนที่เธอจะเป็นดารุ่งในช่วงเวลาหนึ่ง และก็กลับมาฟอร์มตกถึงขนาดที่ตกรอบต่อเนื่องกว่าสิบรายการหลังจากช่วงเวลาของความผิดหวังที่เธอไม่สามารถเป็นคนไทยคนแรกที่สามารถคว้าแชมป์ในรายการแข็ง
LPGA ที่พัทยาได้
และนำมาซึ่งความสัมพันธ์ของพ่อที่กลายเป็นปัญหาคารังคาซังเกิดแตกหักขึ้น
ก่อนที่ในท้ายที่สุดเธอจะสามารถคว้าแชมป์ในรายการนั้นไปครองได้
เอาเข้าจริงๆแล้วหนังเรื่องนี้ของผู้กำกับ “ธนวัฒน์ เอี่ยมจินดา”
ผู้กำกับสายโฆษณาที่พึ่งผันตัวเองมาทำหนังขนาดยาวเรื่องแรก แน่นอนว่าปัญหาของการกำกับหนังเรื่องแรกที่มีความยาว
และมีไดนามิกที่ต่างไปจากการทำงานโฆษณานั้นจะเห็นอย่างชัดเจนมาก แม้ว่าความคล้ายคลึงของจังหวะในการเล่าเรื่อง
และการเคลื่อนกล้อง บวกกับการได้นักแสดงที่พึ่งกลับมาเป็นที่จดจำอย่าง “ธเนศ
วรากุลนุเคราะห์” จากฉลาดเกมส์โกงนั้นจะทำให้ภาพของหนังเรื่องนี้ไปซ้อนกับหนังที่เป็นกระแสเมื่อสองปีก่อนค่อนข้างมากพอสมควร
แต่ผลลัพธ์กับเป็นเวอร์ชั่นที่ดร็อปกว่า และด้วยวิธีการเล่าที่ไม่สามารถลบเลือนข้อบกพร่องแบบที่ในหนังเรื่องนั้นของจีดีเอชสามารถทำได้นั้น
มันก็ทำให้หนังเองเกิดปัญหาของการสร้างสมดุลของการกระจายน้ำหนัก
และการขยับขยายประเด็น รวมไปถึงมิติของเรื่องราวและตัวละครค่อนข้างชัดเจนทีเดียว
แม้ว่าจะมีการขยับขยายปรุงแต่งเรื่องราวให้มีความผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงเพื่ออรรถรส
และเพื่อให้เอื้อต่อการเป็นหนังชีวประวัติที่มีความเดือดดาลมากยิ่งขึ้นแล้วก็ตาม
ในโครงสร้างพื้นฐานของหนังพวกนี้นั้นประกอบด้วยเส้นทางการเล่าเรื่องอยู่สองประเด็นสำคัญ
ซึ่งก็เป็นเฉกเช่นเดียวกันกับหนังเรื่องนี้นั่นคือส่วนที่เป็นเรื่องราวของครอบครัว
และการไต่เต้าในอาชีพนักกีฬา นั่นก็คือการเป็นมือหนังของโลก
การเรียงเรื่องราวของการเล่าเรื่องที่ไม่สามารถสอดแทรกเป้าหมายของเรื่องอย่างการพยายามเป็นมือหนึ่งของโลกให้เห็นที่ไปที่มาที่มีน้ำหนักมากเพียงพอนั้นกลายเป็นปัญหาอย่างชัดเจน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหนังพยายามขับเน้นประเด็นเรื่องของเส้นทางเดินในอาขีพนักกีฬากอล์ฟของตัวละครให้มีความเข้มข้นมากขึ้นอยู่ช่วงหนึ่งจนแทบจะเรียกได้ว่าในช่วงนั้นอิทธิพลและเรื่องราวของพ่อมันจางหายไปเลยก็ว่าได้
ก่อนที่หนังเองจะพยายามดึงกลับมาในช่วงท้ายเรื่องซึ่งไม่ได้สร้างความต่อเนื่องให้กับเรื่องราวมากนัก
เพราะการเสียศูนย์หลักของเรื่องที่พยายามโฟกัสเรื่องครอบครัวเป็นหัวใจไป
นั่นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ในท้ายที่สุดแล้วพลังของผลลัพธ์ที่เป็นแผลในใจของความสัมพันธ์ระหว่างลูกสาวกับพ่อในเรื่องนั้นไม่ให้ผลลัพธ์ที่เข้มข้นมากเสียเท่าไหร่นัก
ยิ่งเราขยายความเข้มมองเข้ามาในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและลูกสาวด้วยแล้วนั้น
เราก็พบว่าการกระจายน้ำหนักของการพูดถึงความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งคู่ไม่ถูกกำหนดศูนย์กลางของเรื่องราวที่ดีมากเพียงพอ
ในช่วงเวลาหนึ่งตัวละครอย่างพ่อนั้นดูโดดเด่นมากจนเกินไปจนเหมือนจะเป็นมุมมองของพ่อที่ใช้ในการขับเล่าเรื่องราว
ในขณะที่ช่วงถัดมาตัวละครอย่างลูกสาวกับเป็นตัวเดินเรื่องสำคัญแทนมากกว่า การโฟกัสที่ไม่ชัดเจนและแข็งแรงกับตัวละครลูกสาวมากเท่าที่ควร
ทำให้หัวใจของเรื่องที่ควรจะเล่าผ่านเรื่องราวของตัวลูกสาวนั้นไม่มีความแข็งแรงมากนัก
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพลังทางการแสดงที่ยังต่างสเกลพอสมควรระหว่างนักสเกลทั้งคู่
ที่เรียกได้ว่าการมีอยู่ของเรื่องราวตัวละครพ่อ
และการเล่าเรื่องราวด้วยเส้นเรื่องของพ่อมันโดดเด่นจนทำให้ค่อนข้างมั่นใจว่านักแสดงคนนี้จะสามารถมีชื่อในการชิงรางวัลสมทบอีกครั้งแน่ๆในปีนี้
ไม่รู้ว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับช่วงท้ายเรื่องของหนังที่พยายามตัดรวบความของเรื่องราวเสียเหลือเกิน
การสร้างจุดผันเปลี่ยนของการตัดสินใจกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพโฆษณาที่เน้นดราม่าชีวิตครอบครัวมากจนเกินไป
และการประวิงเวลาด้วยการสั่งสมความรู้สึกระหว่างช่วงเหตุการณ์ หรือการเล่นกับความซับซ้อนของความสัมพันธ์ที่สะท้อนความซับซ้อนของมนุษย์นั้นไม่เกิดขึ้นในหนังเลย
ภาพที่เกิดขึ้นเหมือนถูกให้สั่งขวาหันซ้ายหัน โดยที่หนังเองไม่ได้หยิบจับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ
และลูกสาวมาขยาย มาตีความให้เห็นถึงความซับซ้อนที่มนุษย์ล้วนมีแต่ประการใด
ทุกอย่างดูง่ายได้ไปหมดเหมือนหนังเองพยายามเร่งเครื่องให้จบเรื่องราวโดยเร็ว
ไม่เว้นแม้แต่ภาพของการแข่งขันในอาชีพของตัวละครที่ก็เล่าเรื่องราวผ่านไปจนเหมือนกลายเป็นมอนทาจที่ไร้ซึ่งรายละเอียดไปเสียหมด
ซึ่งปัญหาของมันอีกประการหนึ่งคือการใช้ดนตรีประกอบเข้ามาเหนี่ยวนำอารมณ์ที่ทำให้ภาพของหนังมันไร้พื้นฐานที่เกี่ยวโยงระหว่างคนดูกับเรื่องราวเหมือนความฉาบฉวยที่เกิดขึ้นกับการพยายามสร้างผลลัพธ์โน้มน้าวใจผู้ชมในงานแบบโฆษณา
จะเห็นว่าหนังเองมีปัญหาชัดเจนทั้งเรื่องของวิธีการกำกับ และตัวบทหนัง
ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าผู้กำกับยังติดวิธีการในการทำโฆษณาอยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งหนังชีวประวัติที่มีดราม่าของประเด็นในชีวิตมาก
มันสามารถขยับขยายการเล่าเรื่องออกไปได้มากกว่านี้ และสามารถสร้างความจำเป็นให้เกิดขึ้นกับตัวละครที่ใส่เข้ามาเป็นตัวละครสบทบอื่นๆได้มากกว่านี้
เพราะตัวละครเหล่านั้นถูกเหวี่ยงออกจากวงโคจรของความสำคัญไปไกลทีเดียว
และผู้ชมเองจะรู้สึกได้เลยว่าไม่ต้องมีก็ยังได้ และไม่ได้ส่งผลกับน้ำหนักของเรื่องราวที่จะผิดเพี้ยนไปด้วย
แต่ถึงอย่างไรก็ดีมันถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในหนังเรื่องแรก ขอเพียงเวลาที่จะพัฒนาฝีมือให้ดีมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง
หนังฉายในโรงภาพยนตร์ไทยตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2562
International Sales : Transformation Films
by Sutiwat Samartkit
(09/08/19)
Post a Comment