Visions du Reel 2019: Soil Without Land | แด่ความเจ็บปวดที่ไม่อาจกลบฝังของชาวไทใหญ่
SOIL WITHOUT LAND
(Nontawut Numbenchapol)
Visions du Reel Film Festival 2019
รัฐฉานเป็นรัฐของไทใหญ่ที่มีเจ้าฟ้าปกครอง
มีสังคม ประเพณี และวัฒนธรรมที่มีความเฉพาะตัว ในปลายศตวรรษที่ 19 ในยุคล่าอาณานิคมที่อังกฤษเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในพม่า
และพม่ากำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ในช่วงเวลาที่กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าอย่าง “พระเจ้าสีป่อ”
ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ามินดง และพระนางลองซี ซึ่งเป็นเจ้าหญิงไทใหญ่
พระองค์ดำเนินนโยบายที่ค่อนข้างไม่เป็นมิตรกับต่างชาติมากนัก
รวมไปถึงการขูดรีดส่วย และภาษีจากประเทศราชหลายประเทศ
รวมไปถึงความโหดร้ายของการสังหารเชื้อพระวงศ์ด้วยความเกรงว่าจะเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ทำให้หัวเมืองต่างๆนั้นไม่พอใจส่วนกลางมากนัก
การยกเลิกแผนปฏิรูปประเทศที่จะนำประเทศเข้าสู่ระบอบการปกครองดั่งเช่นตะวันตกที่สถาบันกษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
และมีการปราบปรามกลุ่มตรงข้ามอย่างรุนแรง
ความหวาดระแวงที่อังกฤษมีต่อพม่าภายหลังทำสนธิสัญญาทางการค้ากับฝรั่งเศส
และการที่พม่าปฏิเสธเงื่อนไขที่การดำเนินนโยบายต่างประเทศจะต้องอยู่ภายใต้อังกฤษทำให้อังกฤษเข้ายึดครองพม่า
และเนรเทศกษัตริย์องค์สุดท้ายไปอยู่อินเดีย
ภายหลังอังกฤษเข้ามาปกครองพม่าอย่างสมบูรณ์แล้วได้ดำเนินนโยบายการแบ่งแยกและปกครอง
ซึ่งแบ่งบริเวณที่เป็นพม่า และชนชาติพันธุ์ที่อยู่บริเวณภูเขา
ซึ่งในกลุ่มนี้รวมถึงรัฐฉานด้วย ซึ่งความซับซ้อนของโครงสร้างการเมืองการปกครอง
ทำให้อังกฤษตัดสินใจตั้งสหพันธรัฐฉานขึ้น และให้เจ้าฟ้าเป็นคนปกครอง
กระนั้นก็ดีบริเวณที่เป็นภูเขาก็ยังถูกทิ้ง วิวัฒนาการเทคโนโลยี ภาษา
วัฒนธรรมก็ล้วนมาถึงเฉพาะในดินแดนของชาวพม่า
ซึ่งเป็นผลพวงประการหนึ่งที่ทำให้ความแตกต่างของชาติพันธุ์ในความรู้สึกของคนนั้นมีมาก
นโยบายของการแก้ปัญหาของเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษที่มีต่อการกระทบกระทั่งกันระหว่างชนกลุ่มน้อยในบริเวณภูเขาด้วยกันเอง
ซึ่งในยุคก่อนล่าอาณานิคมนั้นเป็นปกติอยู่แล้ว
และมีความซับซ้อนของจารีตบางประการโดยเฉพาะเรื่องของเครือญาติที่ทำให้รูปแบบของพหุวัฒนธรรมยังไม่แยกขาดออกจากกันมากนัก
นโยบายของอังกฤษทำให้ความแตกขาดตรงนี้ฉายภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
และแน่นอนว่าการแบ่งแยก และปกครองของอังกฤษนั้นสร้างปัญหาเรือรังมาจนถึงปัจจุบัน
เรื่องราวซับซ้อนผ่านช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเข้ามาปกครองพม่า จนพ่ายแพ้สงคราม
และอังกฤษสัญญาว่าจะให้เอกราชกับพม่า ข้อตกลงสำคัญในช่วงเวลานั้นคือ ข้อตกลง
“ปางหลวง” ในปี 1947 ช่วงเวลาปีเดียวก่อนที่
“อู อองซาน” จะถูกสังหาร โดยข้อตกลงดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ยอมรับเอกราช
และความแตกต่างของชนกลุ่มน้อยในประเทศ
ซึ่งสัญญาว่าจะให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆแยกออกจากสหภาพพม่าได้หลังจากผ่านไปสิบปี
ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้เป็นไปตามสมุดปกขาวของอังกฤษเพื่อให้พม่าหลุดออกจากรัฐอาณานิคม
ซึ่งด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ภาษา และขอบเขตแดนที่ค่อนข้างชัดเจน
แน่นอนว่าทำให้ความเป็นรัฐฉานนั้นเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นประเทศเอกราชได้
การผิดสัญญาที่รัฐบาลกลางพม่าเคยมีไว้จึงนำมาซึ่งความบาดหมางที่กระทบกระทั่งกันอยู่ตลอดมา
และสำนึกความเป็นชาติของคนไทใหญ่นั้นก็แตกต่างจากชาวพม่า และเข้มข้นมากทีเดียว
ดังจะเห็นได้จากช่วงของการสัมภาษณ์ในหนังเรื่องนี้ที่ตัวละครชาวไทใหญ่มีความรู้สึกนึกคิดเรื่องชาติพันธุ์
และเขตแดนที่ชัดเจน มองพม่าเป็นเพียงเจ้าอาณานิคมเท่านั้นเอง
ในปัจจุบันความเห็นทางการเมืองของคนไทใหญ่ในรัฐฉานแบ่งออกเป็นสองฝ่ายชัดเจน
กลุ่มที่ยอมรับได้กับการเป็นส่วนหนึ่งของพม่า และกลุ่มที่ต้องการเป็นเอกราชจากพม่า
ซึ่งยังคงต่อสู้เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาที่ทางรัฐบาลพม่าผิดสัญญาไว้กับชนชาติพันธุ์กลุ่มอื่น
ซึ่งในหนังเรื่องนี้ก็เป็นการสำรวจชีวิตของชาวไทใหญ่คนหนึ่งในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้พรมแดนไทย
ซึ่งอาจจะยังไม่เห็นภาพของการสู้รบ หรือความขึงขังของสถานการณ์มากนัก
เมื่อเทียบกับทางรัฐฉานเหนือที่การต่อสู้ของกลุ่มติดอาวุธยังคงคุกรุ่นอยู่
เพราะฉะนั้นในภาพของหนังเรื่องนี้จึงเป็นชีวิตในวันธรรมดาของพวกเขา
ซึ่งอาจจะให้ภาพที่ไม่ธรรมดามากนักกับผู้คนในกลุ่มเมืองที่เป็นชนกลุ่มใหญ่ในประเทศ
เรื่องราวของเด็กหนุ่มในรัฐฉานใต้ที่ติดกับพรมแดนไทย
ถูกนำเสนอผ่านช่วงเวลาที่เขากลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดของเขาในฐานะประชาชนกลุ่มน้อยของพม่า
สำรวจชีวิตทั้งการมาแสวงหาโอกาสในประเทศไทย
และการมีชีวิตอยู่ในระบบสังคมของรัฐฉานที่ยังปกครองแยกตัวเองจากพม่าในทางพฤตินัย
ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้คือ มันไม่ใช่สารคดีที่มุ่งเน้นเรื่องของการให้รายละเอียดเชิงข้อมูล
แต่หากเป็นสารคดีที่มุ่งสำรวจความหมายของชีวิตมนุษย์คนหนึ่งในระบบสังคม
และวัฒนธรรมที่มีความเป็นเอกเทศอย่างชัดเจน
วัตถุดิบทั้งหลายที่หนังเรื่องนี้เองใส่เข้ามาอย่างชัดเจนสร้างภาพของหนังให้เหมือนกับหนังสารคดีที่ตั้งคำถามกับชีวิตในช่วงวัยรุ่นไม่เพียงแต่ในแง่ของการเมืองระดับจิตสำนึกของความรู้สึกเชิงชาติพันธุ์เท่านั้น
หนังไม่ได้พูดเพียงแค่ประเด็นสำนึกความเป็นชาติที่ทำให้ตัวเองมองตัวเองเป็นคนไทใหญ่ที่แตกต่างจากผู้ปกครองอย่างพม่า
แต่หนังเรื่องนี้กลับลงลึกไปมากกว่านั้นในสิ่งที่เป็นพื้นฐานของความเป็นวัยรุ่นที่เริ่มตั้งคำถามกับสังคมที่มันเป็นอยู่
หนังมองชีวิตผ่านสายตาของตัวละครหลักของเรื่องได้น่าสนใจมากทีเดียว
และนี่เป็นพลังที่สำคัญของหนังสารคดีเรื่องนี้
สายตาของตัวละครที่จ้องมองไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในค่ายฝึก และคำถามที่ผู้สัมภาษณ์สร้างขึ้นเพื่อถามความคิด
และอนาคตของตัวละครในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งก็ยังดูเป็นเหมือนพื้นที่ที่ปิดตาย
ยังไม่มีอนาคตที่จะก้าวต่อไปข้างหน้า จะสู้เพื่อเป็นเอกราชก็ยังไม่ชัดเจน
จะสู้เพื่อตัวเองเพื่อมีชีวิตที่ดีก็ยังไม่ชัดเจน ความสิ้นหวังที่เกิดขึ้นที่มีต่ออนาคตของตัวเอง
ซึ่งอาจรวมถึงประเทศตัวเองด้วยนั้นทำให้ภาพของหนังฉายออกมาเป็นสีเทาที่ขมุกขมัวปนเปื้อนไปกับความเศร้าที่ฉายออกมาในพื้นหลังของเรื่องนี้ได้อย่างทรงพลัง
ซึ่งภาพของความเศร้าชวนสับสนของสายตาตัวละครในหนังเรื่องนี้มันสร้างคำถามที่ทรงพลังมากทีเดียว
ประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการมีอยู่ในฐานะรัฐกันชนของไทยต่อพม่าในช่วงสงครามเย็นที่ทำให้ไทยเองในสมัยจอมพล
ป. พิบูลสงคราม สนับสนุนชนกลุ่มน้อยบริเวณชายแดนคือ
แนวความคิดของการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ และสังคมนิยม
คงต้องอธิบายก่อนนิดนึงว่าบทบาทของกลุ่มพรรคการเมือง และแนวคิดของคอมมิวนิสต์เองใรอยู่ในพรรครัฐบาลที่ปกครองพม่าในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ชัดเจน
และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการสังหารอองซานขึ้นด้วย
และนโยบายที่รัฐบาลพม่ามีความใกล้ชิดกับจีนเองก็ดี
จริงๆแล้วความดินไร้แดนของหนังเรื่องนี้อาจให้ภาพของชาวไทใหญ่ ที่ครั้งหนึ่งเคยมีภาษา
วัฒนธรรมรากเหง้าที่เข้มข้น มีเอกลักษณ์ของตัวเอง
แต่ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมานั้นกลับปราศจากเอกราช ปราศจากความเป็นตัวเองที่แท้จริง
อยู่ภายใต้อิทธิพลของชาติพันธุ์อื่นอยู่ตลอดเวลา
ทั้งๆที่มีความแข็งแรงของจิตวิญญาณที่สามารถสถาปนาความเป็นชาติได้ไม่ยากเย็นมากนัก
หลายครั้งชาวไทใหญ่ในรัฐฉานต้องพึ่งต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทย
ทั้งในเรื่องของงาน การทำมาเลี้ยงชีพ รวมไปถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่เอาไว้สู้รบ
หรือบทบาทของจีนทางตอนเหนือของรัฐฉาน
ความรู้สึกของตัวละครนำชายของเรื่องให้ภาพของการตั้งคำถามในความเป็นดินไร้แดนที่ชัดเจนไม่น้อย
ความสิ้นหวัง หนทางของการคลำมองหาอนาคตที่ไม่ชัดเจน ชีวิตของคนในค่ายทหาร
มันสะท้อนภาพของการดิ้นรนของมนุษย์ด้วยเรี่ยวแรงที่มีอยู่น้อยนิด
ซึ่งการไล่เรียงเรื่องราว
การตัดต่อเล่าเรื่องของหนังค่อยๆสร้างเลเยอร์ให้เห็นภาพที่เปี่ยมอารมณ์ เปี่ยมความรู้สึกในระบบความคิดเชิงมนุษยนิยมที่มุ่งหาอิสรภาพได้อย่างดีทีเดียว
ถือเป็นงานที่พัฒนาตัวเองได้เฉียบคม และซับซ้อนมากขึ้น นับตั้งแต่
“ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง”, “สายน้ำติดเชื้อ” และ “#BKKY” ซึ่งในหนังสารคดีล่าสุดเขาดูเข้าใจถึงหัวใจของสิ่งที่ต้องการจะสื่อได้อย่างดีทีเดียว
หนังฉายที่เทศกาลหนัง Visions du Reel และ ฉายในโรงภาพยนตร์ไทยตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562
International Sales : Mobile Lab Project
by Sutiwat Samartkit
(25/08/19)
Post a Comment