Locarno 2019: The Prince's Voyage | ศีลธรรมที่จมดิ่งในพิภพวานร
THE PRINCE'S VOYAGE
(Jean-Francois Laguionie / Xavier Picard)
Locarno Film Festival 2019 : Out of Competition
ผลงานเรื่องล่าสุดของผู้กำกับสายแอนิเมชั่นชื่อดังจากฝรั่งเศสอย่าง
“Jean-Francois Laguionie” ที่เคยกำกับผลงานแอนิเมชั่นที่พอจะเป็นที่รู้จักกันอย่าง
“Gwen, the Book of Sand”, “ Louise by the Shore” และ “A Monkey’s Tale” ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าในงานของเขามักจะมีสไตล์การเล่าเรื่อง
และประเด็นที่ไม่ได้หนีห่างจากกันมากเท่าไหร่นัก
ในหนังเรื่องล่าสุดของเขานั้นเล่าเรื่องราวของเจ้าชายคนหนึ่งที่ค่อนข้างมีอายุมากแล้ว
วันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุขึ้น แล้วพลัดตกทะเลจนมาโผลที่เมืองเมืองหนึ่งที่มีวัฒนธรรมที่ผิดแปลก
และคิดว่าตนนั้นเป็นพวกอารยชน
ซึ่งประเด็นหลายอย่างในหนังเรื่องนี้ตลอดจนการเดินทางที่ไปเจอกับข้อเท็จจริงที่เป็นสัจธรรมของชีวิตหลายประการ
แม้แต่ในช่วงวัยชราที่น่าจะเป็นวัยที่ผ่านโลกมาเยอะแล้ว
น่าจะเข้าใจโลกได้ดีค่อนข้างมากอยู่ไม่น้อย การเดินทางของเจ้าชายเฒ่าในหนังเรื่องนี้อดทำให้นึกถึงวรรณกรรมคลาสสิคที่เอามาทำเป็นแอนิเมชั่นไปก่อนหน้านี้อย่าง
“The Little Prince” ไม่ได้จริงๆ
ด้วยลักษณะของพล็อตเรื่องที่เจ้าชายเดินทางไปยังที่ๆไม่รู้จัก
และต้องผจญกับแง่มุมความคิดที่สะท้อนด้านที่ไม่เคยเห็นของชีวิต
ซึ่งจะว่าไปแล้วในแอนิเมขั่นเรื่องนี้มันก็มีความแฟนตาซีอยู่ไม่น้อย
แม้มันจะไม่ได้พาเราไปยังพื้นที่ของความเอกเทศอย่างนอกอวกาศ
การเซ็ตอัพพื้นที่ในดินแดนที่ไม่รู้จักเป็นเพียงการสำรวจทวีปใหม่
ภูมิประเทศใหม่ที่เชื่อมกันไว้ด้วยโลกยุคโบราณที่แผ่นดินเชื่อมเข้าหากันด้วยน้ำแข็ง
และทวีปก็ดูจะเป็นผืนแผ่นเดียวกันเหมือนหลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ก่อนที่มันจะเคลื่อนตัวแยกออกจากกัน
และมีมหาสมุทรเข้ามากันเอาไว้ในตอนหลัง
ซึ่งจะว่าไปแล้วหนังเองก็ไม่ได้เซ็ตโลกให้เก่าเสียทีเดียว บริบท
ตลอดจนเทคโนโลยีมันก็เป็นสมัยใหม่ไปเสียหมด มันจึงเหมือนการเอาโลกเก่า
มาเจอกับโลกใหม่เท่านั้นเอง
ความน่าสนใจของมันอยู่ที่การเอาความเก่า
และใหม่เข้ามาอยู่ในที่เดียวกัน
และใช้วิพากษ์ความป่าเถื่อนบรรพกาลของความเป็นมนุษย์ที่ถึงแม้จะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีมากมายแล้ว
แต่การคิดว่าตัวเองเป็นพวกศิวิไลซ์ พวกอารยชน แต่คนกลุ่มอื่น
หรือชาติพันธุ์อื่นไม่ใช่ก็ถือว่าสะท้อนภาพของความวิวัฒนาการทางศีลธรรมที่ต่ำทราม
นอกจากนี้หนังเองยังมีประเด็นเรื่องของการอยู่ร่วมกับป่าที่ดูจะเป็นปัญหาให้เห็นชัดเจนค่อนข้างมาก
จริงๆแล้วหนังเองจงใจเซ็ตสภาพของสองเมืองเอาไว้อย่างต่างกัน ในที่ที่หนึ่งคนไม่สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้
ในขณะที่อีกที่ที่หนึ่งคนนั้นอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และแยกตัวออกมาจากกันอย่างชัดเจน
ความแตกต่างที่สุดขั้วของเมืองสองเมืองในหนังเรื่องนื้
รวมด้วยกับอีโก้ของความเป็นมนุษย์ที่สะท้อนผ่านบทสนทนาให้เราเห็นถึงมุมมองที่แต่ละคนมีต่อตัวเองด้วยทัศนะที่คิดว่าสิ่งที่ตัวเองยึดถือเป็นศูนย์กลางที่ถูกต้องของบรรดาสรรพสิ่งบนโลกใบนี้
และไม่จำเป็นที่จะต้องติดต่อกับใครถ้าเขาไม่เหมือนเรา หรือไม่ดีเพียงพอกับเรา
สภาพสังคมที่ต่างกัน และแยกออกจากกันอย่างชัดเจนนนั้นเกิดจากการที่สังคมทั้งสองนั้นถูกหล่อเลี้ยงด้วยภาพของความกลัวที่ทำให้ทั้งสองตัดสินใจสร้างภาพ
และกรอบของสังคมขึ้นมาเป็นกรอบที่ถูกยึดถือและปฏิบัติ
สิ่งใดที่นอกเหนือจากนี้คือกลายเป็นสิ่งอื่นที่ไม่ค่อยเป็นที่ต้อนรับมากนัก
หนังเองไม่ได้ให้คำสรุปที่ชัดเจนนักว่าสิ่งใด สถานที่ใดมีความดีงามมากกว่ากัน
ในที่ที่หนึ่งความกลัวหล่อหลอมการดำเนินไปของชีวิต
แต่ในอีกทีหนึ่งนั้นความเบื่อหน่ายหล่อหลอมการดำเนินไปของชีวิต
ความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และไร้ซึ่งการปฏิสัมพันธ์กันนั้น
สะท้อนความเหือดแห้งที่เกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์ได้อย่างเจ็บปวด
การหยิบยื่นความกลัวของหนังในสถานที่ที่มนุษย์พยายามแยกตัวออกจากสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์
และป่า
ให้เห็นเป็นภาพเชิงกายภาพที่ปรากฎต่อสายตาของผู้ชมนำเสนอภาพของการพยายามก้าวผ่านความอนารยะให้กลายเป็นความศิวิไลซ์
ซึ่งความกลัวที่หนังเองใช้ยังสะท้อนกลายๆไปถึงภาพของการเปรียบเทียบลักษณะที่เกิดขึ้นในหนังหลายเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นหนังเรื่อง “King Kong” ความคล้ายคลึงที่เกิดขึ้นใน
“The Little Prince” แอนิเมชั่นอย่าง
“Tarzan” รวมไปถึงสภาพการของหนังที่เหมือนเซ็ตโลกของ
“The Planet of the Apes” ให้เกิดขึ้น
การเปรียบเทียบในลักษณะของการล้อเลียน หรืออาจจะเรียกว่าแฟนเซอร์วิซก็ว่าได้นั้น
ในทางหนึ่งนั้นมันให้ภาพที่สะท้อนกรอบของโลกในอุตสาหกรรมหนังที่พูดถึงพรมแดนของความเกลียดกลัวสิ่งที่ไม่รู้จักไม่ใช่เพียงแต่มนุษย์
แต่รวมไปถึงลักษณะของบรรพบุรุษที่พิจารณาตนเป็นผู้สูงส่งกว่าสปีชีส์อื่น
และเหยียดคนที่แตกต่างออกไปจากตัวเราอย่างชัดเจน
ประเด็นปัญหาของหนังเรื่องนี้คือการเปรียบเทียบเรื่องราว
และประเด็นที่ต้องยอมรับว่ามันยังขาดความเข้มข้นมากพอ
จะเห็นว่าสัดส่วนของการพัฒนาเรื่องราว
ช่วงเวลาที่หนังเองใช้ในการขยับขยายประเด็นให้เกิดขึ้นในหนังเรื่องนี้นั้นมีเวลาน้อยเกินไป
ในหลายช่วงการผลักดันไคลแม็กซ์ที่ทั้งอิงกับประเด็นที่สะท้อนความกลัวของมนุษย์
หรือแม้แต่ความสัมพันธ์ของตัวละคร
ซึ่งรวมไปถึงแรงจูงใจในพื้นฐานของความเป็นมนุษย์นั้นไม่แข็งแรงเท่าที่ควรนัก
แต่โดยภาพรวมแล้วมันก็ผลักดันมิติของความเป็นมนุษย์ได้พอสมควรอยู่ ถือเป็นแอนิเมชั่นฝรั่งเศสที่น่าสนใจอีกเรื่องของปีนี้
The Prince's Voyage เข้าฉายที่สาย Out of Competition ที่เทศกาลหนังโลคาร์โน ครั้งที่ 72
International Sales : Urban Distribution International
by Sutiwat Samartkit
(03/09/2019)
(03/09/2019)
Post a Comment